ปางอุ๋ง หรือที่มีชื่อเรียกเต็มๆ ว่า “โครงการพระราชดำริปางตอง 2 (ปางอุ๋ง)” ซึ่งเป็นโครงการในพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่ทรงเห็นว่าพื้นที่บริเวณนี้เป็นพื้นที่อันตราย อยู่ติดแนวชายแดนพม่ามีกองกำลังต่างๆ มีการขนส่งปลูกพืชเสพติด รวมไปถึงการบุกรุกพื้นที่ตัดไม้ทำลายป่าอยู่เสมอ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระราชินีนาถ
จึงมีพระราชดำริ ให้รวบรวมราษฎรกลุ่มน้อยบริเวณนั้นและพัฒนาความเป็นอยู่ ส่งเสริมอาชีพปลูกป่า สร้างอ่างเก็บน้ำ โดยมีพระราชประสงค์สร้างความมั่นคงแนวชายแดน พัฒนาความเป็นอยู่ของราษฎรให้ดีขึ้นและฟื้นฟูอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติให้สมบูรณ์ยั่งยืนตลอดไป
ปางอุ๋ง มีลักษณะเป็นพื้นที่เป็นอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่บนยอดเขาสูง ริมอ่างเก็บน้ำเป็นทิวสนที่ปลูกเรียงรายกัน ปางอุ๋ง ที่หลายๆ คนอาจยังไม่เข้าใจความหมาย คำว่า “ปาง” ซึ่งหมายถึงที่พักของคนทำงานในป่า ส่วน “อุ๋ง” นั้น เป็นภาษาเหนือหมายถึงที่ลุ่มต่ำ คล้ายกระทะใบใหญ่มีน้ำขังเฉอะแฉะ ก็น่าจะหมายถึงที่พักริมอ่างเก็บน้ำนี่เอง ภาพอันสวยงามของไอหมอกที่ลอยเหนือทะเลสาปกับบรรยากาศอันหนาวเหน็บในยามเช้า ทำให้ปางอุ๋ง กลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยวยอดฮิตสุดแสนโรแมนติกติดอันดับต้นๆ ของแม่ฮ่องสอนจนได้รับขนานนาม ว่าเป็น “สวิตเซอร์แลนด์แห่งเมืองไทย” ยิ่งยามพระอาทิตย์ขึ้นจะสะท้อนผืนน้ำผ่านทิวสนและไอหมอกบางๆ ยิ่งเป็นภาพที่สร้างความประทับยากจะลืมเลือน แม้ในกระทั่งเวลาที่หมอกเลือนลางหายไปก็ยังคงความงาม และนอกจากชมบรรยากาศของสายหมอกในยามเช้าแล้ว กิจกรรมอีกอย่างหนึ่งที่พลาดไม่ได้ คือ การนั่งแพชมทัศนียภาพและบรรยากาศโดยรอบรวมถึงชมดาราแห่งปางอุ๋ง นั่นก็คือหงส์พระราชทานจากสมเด็จพระราชินี ซึ่งเป็นหงส์ดำและหงส์ขาวอย่างละ 1 คู่ และไม่ควรพลาดที่จะไปชมสวนปางอุ๋งใกล้กับที่ทำการของโครงการพระราชดำริฯ ซึ่งจัดสร้างขึ้นมาเพื่อให้มีพืชพรรณที่กลมกลืนกับสภาพภูมิประเทศบนที่สูง ทดแทนไร่ฝิ่นร้างในอดีต ซึ่งปัจจุบันปลูกพืชที่ให้ประโยชน์ทางด้านอาหารและยาแพทย์แผนไทย และผลไม้เมืองหนาว เช่น อะโวคาโด พลับ สาลี่ บ๊วย อีกทั้งยังมีการตกแต่งด้วยสวนไม้ดอกไม้ประดับเมืองหนาว เช่น กุหลาบ ไฮเดรนเยีย พวงแสด มีการพยายามนำพืชและสัตว์ประจำถิ่นของพื้นที่ปางอุ๋งกลับมา เช่น เอื้องแซะและกล้วยไม้ต่างๆ และสัตว์อย่างเขียดแลว เป็นต้น
ระเบียบข้อปฏิบัติในพื้นที่โครงการจัดหมู่บ้านรวมไทยตามพระราชดำริ (ปางอุ๋ง)
นักท่องเที่ยวประเภทพักค้างแรม
– ต้องลงทะเบียน ผ่านศูนย์ศิลปาชีพ จังหวัดแม่ฮ่องสอน จึงจะสามารถนำรถเข้าปางอุ๋งได้
– โทรศัพท์ 053-611-244 มือถือ 085-618-3303
โทรสาร 053-611-649, 053-611-690
– การจองที่พัก ให้แจ้งชื่อและเบอร์ติดต่อกลับ แก่เจ้าหน้าที่ (พื้นที่รองรับได้ 500 คน/วัน)
– ถึงแม้จะมีบัตรค้างแรมแต่ก็นำรถเข้าออกพื้นที่ได้ระหว่างเวลา 09.00 – 18.00 น. เท่านั้น
นักท่องเที่ยวประเภทไปกลับ
– ผู้ที่ไม่มีบัตรค้างแรม จะต้องนำรถไปจอดไว้ที่ โรงเรียนบ้านนาป่าแปก หรือ วัดนาป่าแปก
– โดยสารรถสองแถวของชุมชนเข้าไปที่ปางอุ๋งซึ่งให้บริการระหว่างเวลา 04.00 – 18.00 น.
– บัตรโดยสารคนละ 50 บาท (ใช้ได้ทั้งขาไปและกลับเหมือน Airport Link Express Line)
– รถออกทุก 20 นาที กรณีเหมาคัน (ผู้โดยสารไม่เกิน 6 คน)
คิดค่าบริการต่ำสุด 300 บาท