งานประเพณีไหลเรือไฟเป็นงานที่สืบทอดมายาวนาน โดยที่มาของประเพณีไหลเรือไฟนี้ ถือให้เป็นประเพณีที่จัดขึ้นในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทย หรือภาคอีสานนั้นเอง ส่วนใหญ่แล้วจะจัดในบริเวณที่อยู่ติดกับแม่น้ำ และนิยมปฏิบัติกันในเทศกาลออกพรรษาของวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11 หรือ วันแรม 1 ค่ำ เดือน 11 ซึ่งในปีนี้ตรงกับวันที่ 13 ตุลาคม 2562
ความเชื่อและการสืบทอดเรื่องของศาสนานั้นมีส่วนเกี่ยวข้องกับประเพณีอย่างมาก โดยที่มีการสืบสารกันมาหลายชั่วอายุคน เพราะความเชื่อและความศรัทธาในพระพุทธศาสนานั้นสำคัญต่อคนในสมัยก่อนมาก โดยมีความเชื่อในประเพณี สืบเนื่องมาจากการบูชารอย การบวงสรวจพระธาตุจุฬามณี การขอฝนพระพุทธบาทการสักการะท้าวพกาพรหม และการระลึกถึงพระคุณของพระแม่คงคา การเอาไฟเผาความทุกข์ และการบูชาพระพุทธเจ้า
การเริ่มต้นครั้งแรกนั้นไม่มีเมื่อใดนั้นไม่มีหลักฐานปรากฏอย่างแน่นอน แต่มีการสันนิษฐานว่าน่าจะมีมาก่อนที่พระพุทธศาสนาจะเผยแพร่เข้ามาสู่ประเทศไทย เพราะในสมัยก่อนพระมหากษัตริย์ไทยยังนับถือพิธีพราหมณ์กันอยู่
สำหรับจังหวัดต่าง ๆ เช่น จังหวัดหนองคาย จังหวัดเลย จังหวัดอุบลราชธานี จังหวัดศรีษะเกษ จังหวัดนครพนม และอื่นๆ ประเพณีไหลเรือไฟบางที่เรียกว่า “ล่องเรือไฟ” “ลอยเรือไฟ” หรือ “ปล่อยเรือไฟ” โดยมักจะมีพิธีที่คล้ายคลึงกันเป็นลักษณะที่เรือไฟเคลื่อนที่ไปเรื่อย ๆ โดยมีความเชื่อมาประกอบกันหลายประการ เช่น การได้ถวายพุทธบูชาด้วยประทีปโคมไฟ จะทำให้เป็นผู้มีตาทิพย์ รู้แจ้งและเกิดปัญญา สำเร็จเป็นพระอรหันต์
จากอีกตำนานได้กล่าวมาว่า เมื่อครั้งที่พระพุทธองค์ทรงเสด็จไปแสดงธรรมโปรดเหล่าพญานาคในพิภพของนาค ก่อนเสด็จกลับเหล่าพญานาคได้ทูลขอให้พระพุทธองค์ทรงประทับรอยพระบาทไว้สักการะ ณ ริมฝั่งแม่น้ำนัมทานที พระองค์จึงได้ประทับรอบพระบาทเอาไว้ตามที่พญานาคได้ร้องขอ รอยพระบาทนี้จึงเป็นที่เคารพในภายหลังสำหรับพญานาค เหล่าเทวดามนุษย์ ตลอดจนถึงสัตว์ทั้งหลายผู้ต้องการที่จะได้รับบุญกุศล จึงนำมาซึ่งความเชื่อที่ว่าต้องมีการบูชารอยพระพุทธบาท ซึ่งมีคำบูชาที่ท่องได้ว่า “อะหัง อินิมา ปะทีเปนะ นัมมากายะ นะทิยา ปุเลนิ ปาทะวะอัญชัง อภิปูเชมิ อะยัง ปะทีเปนะ มุนิโน ปาทะวะอัญชัง ปูชา มัยหัง ทีฆรัตตัง หิ ตายะ สุขายะ สังวัตคุะตุ” แปลว่า ข้าพเจ้าขอน้อมบูชารอยพระบาทของพระมุนีเจ้า อันประดิษฐานอยู่ ณ หาดทรายแห่งแม่น้ำนัมมทานทีโพ้น ด้วยประทีปนี้ขอให้การบูชารอยพระบาทสมเด็จพระมุนีเจ้าด้วยประทีปในครั้งนี้จงเป็นไปเพื่อประโยชน์ เพื่อความสุขแก่ข้าพเจ้าทั้งหลาย ตลอดกาลนาน เป็นต้น
เรือไฟ หรือ เฮือไฟ หมายถึง เรือที่ประดิษฐ์ด้วยไม้ไผ่ ต้นกล้วย หรือวัสดุที่ลอยน้ำมาต่อกันเป็นแพเรือยาว โดยที่มีโครงสร้างเป็นรูปร่างต่าง ๆ ตามที่ช่างผู้ชำนาญได้ออกแบบตามความต้องการของพวกเขา เช่น รูปช้าง รูปสิงห์ รูปแม่ย่านาง รูปเรือสุพรรณหงส์ รูปพญานาค รูปพญาครุฑ รูปมังกร รูปม้าเทียมราชรถ และอื่น ๆ อีกมากมาย การประดับตกแต่งด้านนอกของเรือจะมีการใช้ดอกไม้ ตะเกียง ใต้สำหรับจุด และธูปเทียน เมื่อจุดไฟใส่โครงสร้างแล้วเปลวไฟจะลุกสว่างไสวเป็นรูปร่างตามโครงสร้างนั้น และเชื่อว่าเป็นการบูชาพุทธ สำหรับการตกแต่งภายในจะมีการใส่ขนมและอาหารต่าง ๆ เช่น กล้วย หมาก พลู ข้าวต้มมัด บุหรี่ เครื่องไทยทาน และขี้ใต้สำหรับจุดไฟให้สว่างไสวก่อนที่จะปล่อยเรือ เป็นต้น แต่สำหรับเรือไฟในปัจจุบันนี้ได้นำเอาเทคโนโลยีเช้ามาช่วยในการสร้างเรือ มีการประดับตกแต่งให้วิจิตรตระการตามากยิ่งขึ้น เมื่อปล่อยเรือออกไปทางแม่น้ำโขงแล้วเรือเหล่านี้จะมีไฟทีลุกโชติช่วงทำให้ได้ภาพที่น่าติดตาตรึงใจและงดงามเป็นเอกลักษณ์สำหรับชาวพุทธเป็นอย่างยิ่งยวด