หากคุณเป็นคนที่ชอบท่องเที่ยวชมสถานที่สวยงามเชิงประวัติศาสตร์ ขอพาท่านมาเที่ยวเรือนไทยผสมยุโรป หลังคาทรงปั้นหยา มุงกระเบื้องสี่เหลี่ยม เป็นอาคารไม้ใต้ถุนสูง สร้างด้วยไม้สักทองทั้งหลัง พระราชนิเวศน์แห่งนี้ เป็นพระราชวังฤดูร้อนของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ตั้งอยู่ในค่ายพระรามหก จังหวัดเพชรบุรี ซึ่งอยู่ในบริเวณเดียวกับ อุทยานสิ่งแวดล้อมนานาชาติสิรินธรนั่นเอง
ภายในพระราชนิเวศน์มฤคทายวัน ประกอบด้วยพระที่นั่งใหญ่ 3 องค์ มีนามเรียงกันจากชั้นในสุดมาจนถึงประตูพระราชนิเวศน์ด้านหน้า ดังนี้
- พระที่นั่งสมุทรพิมาน เป็นที่ประทับของพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยเป็นอาคารหลังใหญ่สุดทรงใช้เป็นห้องบรรทม ห้องแต่งพระองค์ ห้องทรงพระอักษร และห้องสรง ส่วนห้องเสวยเป็นศาลารูปสี่เหลี่ยม มีลูกกรงรอบไม่กั้นฝา ในส่วนพระที่นั่งสมุทรพิมานหมู่เดิม เคยเป็นประทับของพระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวี ระหว่างมีพระครรภ์สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี
- พระที่นั่งพิศาลสาคร เป็นที่ประทับของสมเด็จพระนางเจ้าอินทรศักดิ์ศจี พระวรราชชายา และที่พำนักของ พระสุจริตสุดา พระสนมเอก นอกจากพระที่นั่งแล้วยังมีเรือนเล็กๆ เป็นที่อยู่ของข้าราชการฝ่ายใน
- พระที่นั่งสโมสรเสวกามาตย์ เป็นอาคารสองชั้น มีรูปทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้าเปิดโล่ง ทั้งชั้นล่างและชั้นบนทรงใช้เป็นโรงละครและที่ชุมนุมในโอกาสต่างๆ บริเวณสวนโดยรอบพระราชนิเวศน์มฤคทายวันแต่เดิมพบเพียงภาพถ่าย โดยปรากฏสภาพเป็นป่าชายหาดตามลักษณะภูมิประเทศและถากเป็นพื้นที่โล่งเตียนโดยรอบหมู่พระที่นั่ง เนื่องจากสภาพดินที่มีความเค็ม ดินทราย ดินดาน และลมทะเล เป็นเหตุให้ต้นไม้ไม่เจริญเติบโต ทางมูลนิธิพระราชนิเวศน์มฤคทายวันโดยสมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี ได้ทรงพระกรุณาโปรดรับไว้ในพระอุปถัมภ์ จึงได้มีโครงการในการปรับปรุงภูมิทัศน์โดยรอบพระราชนิเวศน์ โดยหม่อมหลวงภูมิใจ ชุมพล เป็นผู้ออกแบบสวน ได้แรงบันดาลใจจาก บทพระราชนิพนธ์ใน พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัวและผสานแนวคิดในการแก้ไขปัญหาทางภูมิศาสตร์
ซึ่งมีการถมดินให้สูงขึ้นและนำแนวพระราชดำริเรื่องหญ้าแฝกของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชการที่ 9 มาปรับใช้เพื่อการปรับปรุงดิน ทำให้ดินที่แข็งร่วนซุยขึ้น จนเหมาะสมแก่การเพาะปลูก อีกทั้งยังมีการปลูกพืชตระกูลถั่วต่างๆ เพื่อการไถกลบ เพื่อเป็นการเพิ่มแร่ธาตุและสารอินทรีย์วัตถุให้กับดิน นอกจากการปรับสภาพดินด้วยหญ้าแฝกและพืชตระกูลถั่วแล้ว ยังมีการใช้ปุ๋ยหมักชีวภาพอีกด้วย
ขอบคุณรูปภาพจาก thai.tourismthailand
พระราชนิเวศน์มฤคทายวัน เปิดทำการทุกวัน(ยกเว้นวันพุธ)
เวลาทำการ 08.30 – 16.30 น. ปิดจำหน่ายบัตรเข้าชม 16.00 น.
ค่าธรรมเนียมเข้าชมพระราชนิเวศน์มฤคทายวัน (เฉพาะด้านล่างและโดยรอบ) ผู้ใหญ่ ท่านละ 30 บาท เด็ก(อายุ 10 – 14 ปี) คนละ 15 บาท ค่าธรรมเนียมขึ้นชมหมู่อาคารพระที่นั่ง
ท่านละ 30 บาท(ผู้ใหญ่และเด็ก) รายได้จากการเข้าชมร่วมทำนุบำรุงพระราชนิเวศน์มฤคทายวัน